/* code show กล่องแสดงความคิดเห็นของ Facebook*/



ประวัติชุมชนบ้านเมืองปอน

ตำบลเมืองปอน ได้ก่อกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ ๔๐๐ กว่าปีเศษ สันนิษฐานว่าชุมชนแห่งนี้เกิดจากการที่มีผู้คนชาวไทใหญ่ (ไต) จำนวนหนึ่งได้มาตั้งถิ่นฐานและสร้างที่พักอาศัยอยู่ริมลำน้ำปอนและขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ มีการรวมตัวกันของชาวบ้านในการปกป้องตนเองจากการรุกรานของพม่า จนสามารถเอาชนะได้ และผู้นำในสมัยนั้นก็ได้รับการสถาปนาเป็นผู้ปกครองเมืองปอนจากเจ้าผู้ครองนครพิงค์ (จังหวัดเชียงใหม่ปัจจุบัน)ต่อมาภายหลังได้มีการจัดตั้งชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงกันหลายๆชุมชนจนเป็นตำบลเมืองปอน ก็ได้มีผู้คนเข้ามาอาศัยในพื้นที่ขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมีการแบ่งเขตการปกครองออกเป็นอีกหลายๆ หมู่บ้าน พื้นเพของชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายชาวไทใหญ่ และคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงปกาเกอญอ และคนไทยพื้นเมืองบ้าง ลักษณะวิถีชีวิตก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละเชื้อชาติ ศาสนา แต่คนเมืองปอนก็ยังอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขและยังคงความเป็นชาติพันธ์ของตนเองไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

ชุมชนไตบ้านเมืองปอน เดิมสันนิษฐานว่าเป็นที่อยู่ของชนเผ่า“ลัวะ”หรือละว้ามาก่อนเนื่องจากมีเจดีย์เก่าแก่ด้านทิศใต้ของหมู่บ้านที่คาดว่าน่าจะสร้างโดยชนเผ่าลัวะ ต่อมาเมื่อชานกะเลรวบรวมประชากรตั้งหมู่บ้านกุ๋นลมมีชาวไทใหญ่อพยพมาอยู่อาศัยมากขึ้นรวมทั้งคนพื้นเมืองล้านนา ปัจจุบันชาวไทยใหญ่หรือไตอาศัยรวมกลุ่มหนาแน่นในหมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๒ ได้มีผู้คนอพยพมาอยู่มากขึ้นโดยมีทั้งชาวไตจากรัฐฉาน บ้านหมอกใหม่ บ้านลานเคือ(ปัจจุบันอยู่ในประเทศพม่า) และคนพื้นเมืองล้านนาจากอำเภอแม่แจ่ม อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ และจากจังหวัดลำปางเข้ามาอาศัย

บ้านเมืองปอน คำว่า “ปอน” มาจากคำว่า “พร” บ้านเมืองปอนแต่เดิมตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกลำน้ำปอนตั้งอยู่เชิงดอยเวียง มีนายน้อยศรี เป็นผู้นำหมู่บ้าน ต่อมามีชาวพม่ากลุ่มหนึ่ง นำโดยนายธรรมะ และนายป๊ะ ได้ชักชวนให้นายน้อยศรีและชาวบ้านที่เป็นผู้ชายเข้าไปเป็นพรรคพวกของตนเพื่อไปโจมตีนครพิงค์(จังหวัดเชียงใหม่ปัจจุบัน)แต่ต่อมานายน้อยศรีและพรรคพวกไม่ยอมร่วมมือด้วย ทำให้นายธรรมะและนายป๊ะโกรธมาก ถึงกับข่มขู่ว่าจะนำพรรคพวกมาโจมตีเมืองปอนให้ได้ นายน้อยสีเห็นว่า ถ้าตั้งรับอยู่ที่เดิมอาจะเสียทีพม่าได้โดยง่าย จึงได้ปรึกษาหารือกับพวกชาวบ้าน โดยมีนายติ๊บ นายน้อยสุข จองแมน จองริน จองมูหริ่ง จองสิริ จองแอ จองกี และน้อยเมืองขอนเป็นผู้ช่วย ได้ทำการตกลงว่าจะย้ายเมืองปอนขึ้นไปอยู่บนดอยเวียง เพราะลักษณะของดอยเวียงเป็นภูเขาสูง เหมาะแก่การตั้งรับข้าศึกหลังจากย้ายหมู่บ้านแล้วก็ได้วางแผนป้องกันหมู่บ้าน โดยการทำกับดักต่างๆ เช่นป้อมหนาม ป้อมหิน ป้อมทรายคั่ว ป้อมปืนต่างๆดังนั้นเมื่อพม่ายกทัพมา จึงไม่สามารถตีเมืองได้

ต่อมาเจ้าผู้ครองนครพิงค์ ทราบข่าวที่ชาวเมืองปอนชนะพม่า จึงได้ส่งทูตมานำเอาผู้นำหมู่บ้านลงไปนครพิงค์ มีนายน้อยสี นายจองมอน นายจองหริ่ง และนายจองแอ เป็นนายร้อยรองจากพระยาไพศาล แล้วให้กลับมาครองเมืองปอนต่อไป ต่อมาหลังอีก ๕ เดือนหลังฤดูเก็บเกี่ยวผ่านไป พระยาไพศาลได้ปรึกษาหารือกับชาวบ้านว่า ทำเลที่ตั้งของดอยเวียงเป็นดอยสูงทำให้ยากลำบากแก่การประกอบอาชีพ และขาดแคลนน้ำ และอีกประการหนึ่งไม่มีข้าศึกมารุกรานอีกจึงตกลงกันย้ายหมู่บ้านลงมาตั้งทางทิศตะวันตกของลำน้ำปอน คือ หมู่บ้านเมืองปอนในปัจจุบันนี้

กล่องแสดงความคิดเห็น